วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา


การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดทางสังคมศาสตร์หรือจิตวิทยา ครอบคลุมคุณลักษณะที่ต้องการวัดใน 3 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา เช่น  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  เชาว์ปัญญา  ความคิดสร้างสรรค์ ด้านความรู้สึก เช่น ความสนใจ  เจตคติ  จริยธรรม  และด้านทักษะ  เช่น  การเคลื่อนไหว การปฏิบัติงานด้านต่างๆ
หลักการสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการวัดประเมินผลดังนี้
1.วัดให้ตรงกับจุดมุ่งหมาย การวัดและประเมินผลทางการศึกษาเป็นการตรวจสอบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ผู้เรียนบรรลุตามจุดมุ่งหมายมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้สอนต้องวิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังเพื่อนำไปกำหนดจุดประสงค์การเรียนการสอนให้ครบถ้วนทุกด้าน (ความรู้ ทักษะ คุณธรรม) แล้วเลือกวัดจุดประสงค์สำคัญจำนวนหนึ่งซึ่งมีความครอบคลุมและสามารถเป็นตัวแทนของพฤติกรรมทั้งหมด
ความผิดพลาดที่ทำให้การวัดไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายมีดังนี้
1.1ไม่ชัดเจนว่าต้องการจะวัดคุณลักษณะใด ผู้สอนจะต้องให้ความหมายของคุณลักษณะที่จะวัดให้ชัดเจนเสียก่อน
1.ใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด เนื่องจากเครื่องมือมีหลายประเภท เช่น แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบสอบถาม และเครื่องมือแต่ละชนิดมีลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกัน
1.เลือกตัวอย่างที่จะวัดไม่เหมาะสม คือ เลือกเนื้อหาหรือพฤติกรรมที่ไม่เป็นตัวแทนของคุณลักษณะที่ต้องการวัด
2.ใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพ ผลจากการวัดที่เชื่อถือได้จำเป็นต้องมาจากเครื่องมือที่มีคุณภาพมิฉะนั้นการประเมินผลก็จะผิดพลาดตามไปด้วย และเนื่องจากการวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดทางสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่คงที่แน่นอนเหมือนการวัดทางกายภาพ ดังนั้น วิธีการและเครื่องมือวัดควรเหมาะสมกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด และให้ผลการวัดที่แน่นอน เพื่อให้เชื่อได้ว่าผลของการวัดเป็นตัวแทนคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ในการวัดผลทางการศึกษาควรใช้เครื่องมือหรือวิธีการวัดหลายวิธี เนื่องจากคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของผู้เรียนนั้นวัดได้ยากไม่มีวิธีการใดเพียงวิธีเดียวที่วัดได้อย่างสมบูรณ์ การวัดด้วยเครื่องมือที่หลากหลายจึงจะทำให้ผลของการวัดมีความเชื่อถือได้
3.คำนึงถึงความยุติธรรม คือ วัดและประเมินผลตามหลักวิชา มีใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงหรือมีอคติ เช่น ตรวจข้อสอบโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน จัดให้ผู้ถูกวัดอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน ในการวัดอย่างยุติธรรมนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การป้องกันความผิดพลาดเคลื่อนของการวัด โดยต้องสร้างเครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ รู้จักธรรมชาติและวิธีการใช้เครื่องมือชนิดต่างๆ สามารถควบคุมสภาพการวัดให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติของเครื่องมือนั้นๆ เพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
                4.แปลผลการวัดให้ถูกต้อง เนื่องจากการวัดและการประเมินผลทางการศึกษามีเป้าหมายเพื่อใช้อธิบายคุณลักษณะที่ต้องการวัดในตัวผู้เรียน ดังนั้น ในการแปลผลจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์วิธีการแปลความหมาย ผู้สอนจึงต้องมีความรู้เรื่องข้อมูล ระดับการวัดของข้อมูล วิธีการประเมินแบบอิงเกณฑ์และอิงกลุ่ม รวมทั้งสถิติที่ใช้ในการจัดกระทำกับข้อมูล
5.ใช้ผลการวัดให้คุ้มค่า เนื่องจากการวัดและการประเมินผลเป็นการลงทุนหลายด้าน จึงควรใช้ผลการวัดและการประเมินเพื่อค้นหาและพัฒนาสมรรถภาพของผู้เรียนเป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นเพียงการตัดสินได้-ตก หรือผ่าน-ไม่ผ่าน แต่ควรใช้ผลการวัดและการประเมินเป็นข้อมูลย้อนกลับเพื่อแก้ไขปรับปรุงและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน การพิจารณาค้นหาความรู้ความสามารถที่เด่นด้อยของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อบกพร่องในการเรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนรู้ ปรับปรุงการสอน ใช้เป็นข้อมูลในการแนะแนว หรือใช้เพื่อปรับปรุงการบริหารงานในโรงเรียน รวมทั้งการใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อทำนายความถนัดและความสามารถของผู้เรียนในอนาคตต่อไป
                หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดให้การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องอยู่บนจุดมุ่งหมาย 2 ประการ ประการแรก คือ การวัดและการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยนำผลของการวัดมาใช้ในการส่งเสริมและปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของผู้เรียนและการสอนของผู้สอน เป็นการวัดประเมินผลเพื่อให้รู้จุดเด่น จุดที่ต้องการปรับปรุง เพื่อใช้ข้อมูลในการพัฒนาจึงเป็นการวัดประเมินผลย่อย (formative assessment) จุดมุ่งหมายประการที่สอง คือ การวัดและประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน เป็นการประเมินสรุปผลการเรียนรู้ (summative assessment) ซึ่งมีหลายระดับทั้งเมื่อเรียนจบหน่วยการเรียนและเมื่อจบรายวิชา

อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่ 7-9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น