วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จุดมุ่งหมายของการวัดผลการศึกษา

                การวัดผลทางการศึกษามีจุดมุ่งหมายหลายประการ ในการวัดแต่ละครั้งผู้สอนจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนเพื่อที่จะกำหนดกระบวนการวัดที่เหมาะสม ดังนี้
                1.วัดผลเพื่อค้นหาและพัฒนาสมรรถภาพของผู้เรียน เป็นการวัดเพื่อตรวจสอบความรู้ ความสามารถและทักษะพื้นฐานของผู้เรียนก่อนเริ่มเรียนรู้บทเรียนใหม่เพื่อจะได้ปรับพื้นฐานหรือออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมของผู้เรียน จุดมุ่งหมายของการวัดผลเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และการเจริญงอกงามตามศักยภาพของตน ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดและเป็นปรัชญาของการวัดผลการศึกษา
                2.วัดผลเพื่อวินิจฉัยข้อบกพร่อง เป็นการใช้ผลจากการวัดเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุข้อบกพร่องในการเรียนของผู้เรียนและการสอนของผู้สอน เพื่อให้ได้ทราบว่าผู้เรียนยังไม่เกิดการเรียนรู้ในจุดใดจะได้จัดการสอนซ่อมเสริม ให้ผู้เรียนสามารถบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
                3.วัดผลเพื่อจัดอันดับหรือจัดตำแหน่ง เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดมาเปรียบเทียบหรือจัดอัดดับความสามารถในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใดของกลุ่ม โดยในการจัดลำดับนี้แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือการจำแนก (classification) เช่น การจำแนกผู้เรียนออกเป็นกลุ่มสูง กลุ่มปานกลาง และกลุ่มต่ำ และการคัดเลือก (selection) เช่นการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานหรือศึกษาต่อ
                4.วัดผลเพื่อทราบการพัฒนาการ เป็นการวัดผลเพื่อเปรียบเทียบความสามารถของตัวผู้เรียนแต่ละคนโดยไม่ได้เปรียบเทียบกับผู้เรียนคนอื่น เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีพัฒนาการเพียงใด มีการเจริญงอกงามหรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ โดยเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น ก่อนเรียน กับหลังเรียน หรือการเปรียบเทียบผลการเรียนในแต่ละภาคเรียน
                5.วัดผลเพื่อพยากรณ์หรือทำนาย เป็นการใช้ผลจากการวัดในปัจจุบันเพื่อทำนายอนาคตของผู้เรียน ซึ่งมักนำผลจากการวัดไปใช้ในการแนะแนว โดยจะต้องใช้แบบวัดที่มีคุณภาพเพื่อให้ผลการพยากรณ์ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เช่น แบบวัดความถนัด (aptitude test) หรือแบบวัดเชาวน์ปัญญา (intelligence test)
                6.วัดผลเพื่อประเมิน เป็นการใช้ผลเพื่อประเมินหรือสรุปคุณภาพการจัดการเรียนการสอนโดยรวม เพื่อสรุปคุณภาพของการจัดการศึกษา คุณภาพของหลังสูตร และการใช้หลักสูตรซึ่งมีประโยชน์สำหรับการบริหารการศึกษา

อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่ 9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น