วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ธรรมชาติของการวัดผลการศึกษา


การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดทางด้านจิตวิทยา ซึ่งเป็นกระบวนการกำหนดค่าตัวเลขหรือสัญลักษณ์แทนคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมที่สัมผัสไม่ได้โดยตรง เช่น การวัดประเมินคุณลักษณะที่เกี่ยวกับสติปัญญา ความถนัด ความสนใจ ค่านิยม เจตคติ ฯลฯ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แฝงอยู่ภายในบุคคล และเป็นคุณลักษณะที่ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่มีหน่วยการวัดที่สมบูรณ์ซึ่งทำให้ผลของการวัดมีลักษณะเป็นนามธรรมค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้สอนและนักการศึกษาจึงควรเข้าใจธรรมชาติของการวัดทางการศึกษาเพื่อวางแผน ดำเนินการ และสรุปผลการวัดได้อย่างถูกต้อง
1.การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดทางอ้อม ( indirect )  เนื่องจากเป็นการวัดคุณลักษณะนามธรรมที่อยู่ภายในตัวบุคคล ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง เช่น การวัดระดับสติปัญญา การวัดความคิดเห็น การวัดเจตคติ การวัดจริยธรรม ดังนั้น เพื่อจะวัดคุณลักษณะเหล่านี้ผู้สอนจะต้องหาสิ่งเร้ามากระตุ้นให้บุคคลแสดงคุณลักษณะที่ต้องการวัดออกมาในรูปพฤติกรรมที่สังเกตได้ก่อน แล้วจึงวัดพฤติกรรมที่แสดงออกมาว่ามีปริมาณเท่าใด หรือมีคุณภาพเป็นอย่างไร เช่น ถ้าต้องการรู้ว่าผู้เรียนมีความรู้ทางคณิตศาสตร์หรือไม่ ผู้สอนต้องแปลง ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ออกมาเป็นพฤติกรรมที่วัดได้ เช่น ผู้เรียนสามารถบวกเลขสองหลักได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากผู้เรียนทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดก็สรุปย้อนกลับไปว่าผู้เรียนมี ความรู้ทางคณิตศาสตร์หรือถ้าต้องการทราบว่าผู้เรียนมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด ผู้สอนอาจมอบหมายงานให้ผู้เรียนไปทำงาน แล้วสังเกตว่าผู้เรียนมีความใส่ใจในการทำงานมากน้อยเพียงใด ส่งตรงเวลาหรือไม่ ทำงานครบถ้วนหรือไม่ แล้วจึงย้อนสรุปว่าผู้เรียนมีหรือไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งแตกต่างจากการวัดทางวิทยาศาสตร์ซึ่งวัดสิ่งที่มีตัวตน จับต้องได้ จึงสามารถนำเครื่องมือไปวัดได้โดยตรง เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ปริมาณ อุณหภูมิ ความดัน แรงกด
2.การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์ ( incomplete )  คือ ไม่สามารถวัดคุณลักษณะหรือพฤติกรรมต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากพฤติกรรมที่เป็นผลของการเรียนการสอนเป็นพฤติกรรมที่แฝงอยู่ภายในตัวบุคคล ไม่สามารถกำหนดรายละเอียดของพฤติกรรมได้ครบถ้วน รวมทั้งไม่สามารถกำหนดขอบเขตของพฤติกรรมได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ในการวัดผลทางการศึกษาจะต้องเลือกวัดพฤติกรรมที่สำคัญจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของพฤติกรรมทั้งหมด ดังนั้น แบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ความสามารถของผู้เรียนแต่ละฉบับ ไม่สามารถถามเนื้อหาความรู้ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ความรู้ที่ถามในแบบทดสอบนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมวลความรู้ที่ถูกสุ่มหรือเลือกมาเป็นข้อคำถามเพื่อวัดระดับความรู้หรือระดับความสามารถของผู้เรียน ตัวอย่างเช่น ผู้เรียนได้เรียนรู้คำสุภาษิตหรือคำพังเพยมาแล้ว 50 คำ แต่ในการสอบวัดความรู้อาจสร้างข้อคำถามเพื่อถามเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในคำสุภาษิตและคำพังเพยเพียง 10 หรือ 20 ข้อเท่านั้น ดังนั้นในการวัดผลการศึกษาผู้สอนต้องสร้างเครื่องมือวัดที่สามารถวัดให้ครอบคลุมเนื้อหาได้มากที่สุด โดยการสร้างตารางวิเคราะห์หลักสูตร เพื่อคัดเลือกเนื้อหาและพฤติกรรมที่ตรงกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ตามหลักสูตร คัดเลือกวิธีการวัดผลและเครื่องมือวัดที่สอดคล้องกับคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้ได้มากที่สุด
3.การวัดผลการศึกษามีความคลาดเคลื่อน ( error )  ความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทั้งในการวัดทางวิทยาศาสตร์และวัดทางจิตวิทยา เช่น การชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งอาจจะคลาดเคลื่อนเนื่องจากเครื่องชั่งหย่อนประสิทธิภาพหรืออ่านค่าน้ำหนักผิด การวัดผลทางการศึกษาก็มีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากเป็นการวัดพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงออกมาเมื่อมีสิ่งเร้าไปกระตุ้น พฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นอาจไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะสังเกตได้ หรืออาจแกล้งทำ หรืออาจไม่ใช่เป็นผลจากการกระตุ้นของสิ่งที่นำไปเร้า การวัดผลทางการศึกษาจึงมีความคลาดเคลื่อนมาก เพราะพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่ต้องการวัดมีลักษณะซับซ้อน สังเกตหรือจับต้องไม่ได้ เช่น ความรู้ ความเชื่อ ความคิดเห็น
ผลที่ได้จากการวัดทางการศึกษาประกอบด้วย 2 ส่วน คือผลการวัดที่แท้จริงซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่ต้องการวัด กับความคลาดเคลื่อนที่ได้จากการวัด ดังนั้นคะแนนที่ได้จากการวัดจึงเท่ากับความสามารถที่แท้จริงกับความคลาดเคลื่อน เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
คะแนนที่สอบได้ (X)     =      คะแนนจริง (T)      +       คะแนนความคาดเคลื่อน (E)
สาเหตุของความคลาดเคลื่อนในการวัดผลทางการศึกษามีหลายประการ ได้แก่
3.1ความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือวัด (เครื่องมือที่ใช้วัดไม่มีคุณภาพ) เช่น ข้อสอบยากหรือง่ายเกินไป ข้อสอบไม่มีความเที่ยงตรง แบบทดสอบมีข้อบกพร่อง คือ คำถามไม่ชัดเจน คำสั่งไม่ชัดเจน พิมพ์ผิด ตัวอักษรไม่ชัดเจน ฯลฯ
3.2ความคลาดเคลื่อนที่มาจากผู้สอบ เช่น มีความเครียด วิตกกังวล ไม่สบาย ทุจริตในการสอบ การรู้ข้อสอบล่วงหน้า
3.3ความคลาดเคลื่อนจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อากาศร้อน เสียงรบกวน
3.4ความคลาดเคลื่อนจากผู้ดำเนินการวัดผลขาดความชำนาญ เช่น ใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด การคุมสอบไม่รัดกุมทำให้เกิดการทุจริต
3.5ความคลาดเคลื่อนในการคำนวณ เช่น บวกคะแนนผิด การตรวจคะแนนไม่มีความชัดเจน การกรอกคะแนนผิด
ดังนั้น ในการวัดผลผู้สอนจะต้องพยายามควบคุมความคลาดเคลื่อนต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ผลของการวัดที่ได้ใกล้เคียงกับความสามารถของผู้ถูกวัดได้มากที่สุด
4.การวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดเชิงสัมพันธ์ ( relation ) ในการวัดทางวิทยาศาสตร์นั้น ข้อมูลที่ได้จากการวัดจะมีความหมาย คือ ให้ความรู้ความเข้าใจในทันที เช่น วิชัยสูง 150 เซนติเมตร แสดงว่าเป็นคนเตี้ย หรือฝรั่งผลนี้หนัก 1 กิโลกรัม แสดงว่าผลโตมาก ในขณะที่ข้อมูลที่เป็นผลจากการวัดทางการศึกษาไม่มีความหมายในตัวเอง อธิบายไม่ได้ จะต้องนำไปเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อนจึงบอกได้ว่าคะแนนของผู้สอบนั้นมีความหมายอย่างไร (มาก-น้อย/เก่ง-อ่อน) ตัวอย่างเช่น ในการสอบวิชาภาษาไทยของนักเรียน 40 คน ซึ่งมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ผู้ที่จะสอบผ่านจะต้องสอบได้คะแนนตั้งแต่ 50 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนสอบพบว่า ปัญญาสอบได้ 45 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 65 คะแนน ซึ่งคะแนนของปัญญาจะมีความหมายต่อเมื่อนำคะแนนไปเปรียบเทียบกับสิ่งต่อไปนี้
4.1เปรียบเทียบกับคะแนนเต็ม แสดงว่า ปัญญาสอบได้ต่ำกว่าครึ่งของคะแนนเต็ม
4.2เปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม (อิงกลุ่ม) แสดงว่า ปัญญาสอบได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย
4.3เปรียบเทียบกับเกณฑ์ (อิงเกณฑ์) แสดงว่า ปัญญาสอบไม่ผ่านเกณฑ์
5.การวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดที่ไม่มีศูนย์แท้  เนื่องจากเป็นการวัดที่ไม่ทราบจุดเริ่มต้นที่แสดงถึงพฤติกรรมที่ว่างเปล่า ข้อมูลที่ได้จากการวัดผลทางการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่คือจำนวนหรือตัวเลขซึ่งเรียกว่า คะแนน ( score ) เป็นข้อมูลระดับอันตรภาค ( interval scale )  ซึ่งข้อมูลในระดับนี้ไม่มีศูนย์แท้ คะแนน 0 คะแนน ในทางการศึกษาไม่ได้หมายความว่า ไม่มีหรือ ว่างเปล่าแต่มีความหมายว่า ผู้ที่ได้คะแนน 0  คะแนนจากการทำแบบทดสอบทำข้อสอบไม่ถูกเลยแม้แต่ข้อเดียว ดังนั้นจะแปลความว่าผู้เรียนคนนั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในวิชานั้นๆ เลยไม่ได้ ดังนั้นคำว่า 0  คะแนน ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความรู้ที่ว่างเปล่า จึงไม่ได้แปลว่าผู้สอบไม่มีความรู้ และผู้เรียนคนหนึ่งสอบได้ 40 คะแนน อีกคนหนึ่งสอบได้ 20 คะแนน ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนคนแรกมีความรู้เป็น 2 เท่าของอีกคนหนึ่ง

อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่4-7

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น