วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างการวัดผลกับการจัดการเรียนการสอน


                แนวคิดสำคัญของการวัดและประเมินผลทางการศึกษา คือ
                1.สิ่งใดที่มีอยู่สิ่งนั้นต้องวัดได้
                2.การวัดผลเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน
                3.การสอนและการสอบเป็นกระบวนการเกี่ยวเนื่องกัน จนมีคำกล่าวว่า “ที่ใดมีการสอนที่นั่นย่อมมีการสอบ
                4.การสอนไม่ใช่เพื่อการสอบ
                5.ผู้วัดผลควรเป็นผู้สอนเองเพราะใกล้ชิดกับผู้เรียน
                6.ไม่ควรประเมินเมื่อไม่มีความประสงค์จะทราบผล
                รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างการวัดผลกับการจัดการเรียนการสอนพอสรุปได้ ดังนี้(สมนึก ภัททิยธนี,2551)


รูปที่ 1.แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการวัดผลกับการจัดการเรียนการสอน
                การวัดผลเป็นกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ปรับปรุงให้ผู้เรียนบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ซึ้งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอน ไม่ใช่เป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายของการเรียนการสอน โดยการวัดประเมินผลทางการศึกษามีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
                1.การวัดผลก่อนการเรียนการสอน
                2.การวัดผลระหว่างเรียนหรือการวัดผลย่อย
                3.การวัดผลภายหลังสิ้นสุดการเรียนสอนหรือการวัดผลรวม


อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่ 10-11

ประเภทของการประเมินผลการศึกษา


                1.จำแนกตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
                                1.1การประเมินผลก่อนเรียน มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจสอบความรู้และทักษะพื้นฐานของผู้เรียนในลักษณะของการสอบเพื่อวินิจฉัย เพื่อนำไปสู่การปรับพื้นฐาน การวางแผนการสอน และการมอบหมายภาระงานที่เหมาะสมกับผู้เรียน
                                1.2การประเมินผลระหว่างเรียนหรือการประเมินความก้าวหน้า มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจสอบการบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้เรียน หาแนวทางปรับปรุงในรูปแบบของการสอนซ่อมเสริมหรือปรับปรุงการสอนของผู้สอน
                                1.3การประเมินผลรวมสรุป เป็นการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน
                2.จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
                                2.การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (norm-referenced evaluation) เป็นการตัดสินคุณค่าของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของผู้เรียนโดยเปรียบเทียบกับผู้เรียนในกลุ่มเดียวกัน เพื่อจำแนกและจัดลำดับของผู้เรียนในกลุ่มนั้นๆ

                                2.2การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (criterion- referenced evaluation) เป็นการตัดสินคุณค่าของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของผู้เรียนโดยเทียบกับเกณฑ์ โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการเปรียบเทียบนั้นอาจเป็นเกณฑ์มาตรฐานหรือเกณฑ์ที่ผู้ประเมินกำหนดขึ้นเอง ซึ่งในทางปฏิบัติของการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนิยมใช้จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (behavioral objective) ประจำหน่วยการเรียนเป็นเกณฑ์

อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่ 10

จุดมุ่งหมายของการวัดผลการศึกษา

                การวัดผลทางการศึกษามีจุดมุ่งหมายหลายประการ ในการวัดแต่ละครั้งผู้สอนจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนเพื่อที่จะกำหนดกระบวนการวัดที่เหมาะสม ดังนี้
                1.วัดผลเพื่อค้นหาและพัฒนาสมรรถภาพของผู้เรียน เป็นการวัดเพื่อตรวจสอบความรู้ ความสามารถและทักษะพื้นฐานของผู้เรียนก่อนเริ่มเรียนรู้บทเรียนใหม่เพื่อจะได้ปรับพื้นฐานหรือออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมของผู้เรียน จุดมุ่งหมายของการวัดผลเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และการเจริญงอกงามตามศักยภาพของตน ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดและเป็นปรัชญาของการวัดผลการศึกษา
                2.วัดผลเพื่อวินิจฉัยข้อบกพร่อง เป็นการใช้ผลจากการวัดเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุข้อบกพร่องในการเรียนของผู้เรียนและการสอนของผู้สอน เพื่อให้ได้ทราบว่าผู้เรียนยังไม่เกิดการเรียนรู้ในจุดใดจะได้จัดการสอนซ่อมเสริม ให้ผู้เรียนสามารถบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
                3.วัดผลเพื่อจัดอันดับหรือจัดตำแหน่ง เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดมาเปรียบเทียบหรือจัดอัดดับความสามารถในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใดของกลุ่ม โดยในการจัดลำดับนี้แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือการจำแนก (classification) เช่น การจำแนกผู้เรียนออกเป็นกลุ่มสูง กลุ่มปานกลาง และกลุ่มต่ำ และการคัดเลือก (selection) เช่นการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานหรือศึกษาต่อ
                4.วัดผลเพื่อทราบการพัฒนาการ เป็นการวัดผลเพื่อเปรียบเทียบความสามารถของตัวผู้เรียนแต่ละคนโดยไม่ได้เปรียบเทียบกับผู้เรียนคนอื่น เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีพัฒนาการเพียงใด มีการเจริญงอกงามหรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ โดยเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น ก่อนเรียน กับหลังเรียน หรือการเปรียบเทียบผลการเรียนในแต่ละภาคเรียน
                5.วัดผลเพื่อพยากรณ์หรือทำนาย เป็นการใช้ผลจากการวัดในปัจจุบันเพื่อทำนายอนาคตของผู้เรียน ซึ่งมักนำผลจากการวัดไปใช้ในการแนะแนว โดยจะต้องใช้แบบวัดที่มีคุณภาพเพื่อให้ผลการพยากรณ์ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เช่น แบบวัดความถนัด (aptitude test) หรือแบบวัดเชาวน์ปัญญา (intelligence test)
                6.วัดผลเพื่อประเมิน เป็นการใช้ผลเพื่อประเมินหรือสรุปคุณภาพการจัดการเรียนการสอนโดยรวม เพื่อสรุปคุณภาพของการจัดการศึกษา คุณภาพของหลังสูตร และการใช้หลักสูตรซึ่งมีประโยชน์สำหรับการบริหารการศึกษา

อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่ 9

หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา


การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดทางสังคมศาสตร์หรือจิตวิทยา ครอบคลุมคุณลักษณะที่ต้องการวัดใน 3 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา เช่น  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  เชาว์ปัญญา  ความคิดสร้างสรรค์ ด้านความรู้สึก เช่น ความสนใจ  เจตคติ  จริยธรรม  และด้านทักษะ  เช่น  การเคลื่อนไหว การปฏิบัติงานด้านต่างๆ
หลักการสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการวัดประเมินผลดังนี้
1.วัดให้ตรงกับจุดมุ่งหมาย การวัดและประเมินผลทางการศึกษาเป็นการตรวจสอบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ผู้เรียนบรรลุตามจุดมุ่งหมายมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้สอนต้องวิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังเพื่อนำไปกำหนดจุดประสงค์การเรียนการสอนให้ครบถ้วนทุกด้าน (ความรู้ ทักษะ คุณธรรม) แล้วเลือกวัดจุดประสงค์สำคัญจำนวนหนึ่งซึ่งมีความครอบคลุมและสามารถเป็นตัวแทนของพฤติกรรมทั้งหมด
ความผิดพลาดที่ทำให้การวัดไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายมีดังนี้
1.1ไม่ชัดเจนว่าต้องการจะวัดคุณลักษณะใด ผู้สอนจะต้องให้ความหมายของคุณลักษณะที่จะวัดให้ชัดเจนเสียก่อน
1.ใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด เนื่องจากเครื่องมือมีหลายประเภท เช่น แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบสอบถาม และเครื่องมือแต่ละชนิดมีลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกัน
1.เลือกตัวอย่างที่จะวัดไม่เหมาะสม คือ เลือกเนื้อหาหรือพฤติกรรมที่ไม่เป็นตัวแทนของคุณลักษณะที่ต้องการวัด
2.ใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพ ผลจากการวัดที่เชื่อถือได้จำเป็นต้องมาจากเครื่องมือที่มีคุณภาพมิฉะนั้นการประเมินผลก็จะผิดพลาดตามไปด้วย และเนื่องจากการวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดทางสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่คงที่แน่นอนเหมือนการวัดทางกายภาพ ดังนั้น วิธีการและเครื่องมือวัดควรเหมาะสมกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด และให้ผลการวัดที่แน่นอน เพื่อให้เชื่อได้ว่าผลของการวัดเป็นตัวแทนคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ในการวัดผลทางการศึกษาควรใช้เครื่องมือหรือวิธีการวัดหลายวิธี เนื่องจากคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของผู้เรียนนั้นวัดได้ยากไม่มีวิธีการใดเพียงวิธีเดียวที่วัดได้อย่างสมบูรณ์ การวัดด้วยเครื่องมือที่หลากหลายจึงจะทำให้ผลของการวัดมีความเชื่อถือได้
3.คำนึงถึงความยุติธรรม คือ วัดและประเมินผลตามหลักวิชา มีใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงหรือมีอคติ เช่น ตรวจข้อสอบโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน จัดให้ผู้ถูกวัดอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน ในการวัดอย่างยุติธรรมนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การป้องกันความผิดพลาดเคลื่อนของการวัด โดยต้องสร้างเครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ รู้จักธรรมชาติและวิธีการใช้เครื่องมือชนิดต่างๆ สามารถควบคุมสภาพการวัดให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติของเครื่องมือนั้นๆ เพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
                4.แปลผลการวัดให้ถูกต้อง เนื่องจากการวัดและการประเมินผลทางการศึกษามีเป้าหมายเพื่อใช้อธิบายคุณลักษณะที่ต้องการวัดในตัวผู้เรียน ดังนั้น ในการแปลผลจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์วิธีการแปลความหมาย ผู้สอนจึงต้องมีความรู้เรื่องข้อมูล ระดับการวัดของข้อมูล วิธีการประเมินแบบอิงเกณฑ์และอิงกลุ่ม รวมทั้งสถิติที่ใช้ในการจัดกระทำกับข้อมูล
5.ใช้ผลการวัดให้คุ้มค่า เนื่องจากการวัดและการประเมินผลเป็นการลงทุนหลายด้าน จึงควรใช้ผลการวัดและการประเมินเพื่อค้นหาและพัฒนาสมรรถภาพของผู้เรียนเป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นเพียงการตัดสินได้-ตก หรือผ่าน-ไม่ผ่าน แต่ควรใช้ผลการวัดและการประเมินเป็นข้อมูลย้อนกลับเพื่อแก้ไขปรับปรุงและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน การพิจารณาค้นหาความรู้ความสามารถที่เด่นด้อยของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อบกพร่องในการเรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนรู้ ปรับปรุงการสอน ใช้เป็นข้อมูลในการแนะแนว หรือใช้เพื่อปรับปรุงการบริหารงานในโรงเรียน รวมทั้งการใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อทำนายความถนัดและความสามารถของผู้เรียนในอนาคตต่อไป
                หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดให้การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องอยู่บนจุดมุ่งหมาย 2 ประการ ประการแรก คือ การวัดและการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยนำผลของการวัดมาใช้ในการส่งเสริมและปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของผู้เรียนและการสอนของผู้สอน เป็นการวัดประเมินผลเพื่อให้รู้จุดเด่น จุดที่ต้องการปรับปรุง เพื่อใช้ข้อมูลในการพัฒนาจึงเป็นการวัดประเมินผลย่อย (formative assessment) จุดมุ่งหมายประการที่สอง คือ การวัดและประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน เป็นการประเมินสรุปผลการเรียนรู้ (summative assessment) ซึ่งมีหลายระดับทั้งเมื่อเรียนจบหน่วยการเรียนและเมื่อจบรายวิชา

อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่ 7-9

ธรรมชาติของการวัดผลการศึกษา


การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดทางด้านจิตวิทยา ซึ่งเป็นกระบวนการกำหนดค่าตัวเลขหรือสัญลักษณ์แทนคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมที่สัมผัสไม่ได้โดยตรง เช่น การวัดประเมินคุณลักษณะที่เกี่ยวกับสติปัญญา ความถนัด ความสนใจ ค่านิยม เจตคติ ฯลฯ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แฝงอยู่ภายในบุคคล และเป็นคุณลักษณะที่ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่มีหน่วยการวัดที่สมบูรณ์ซึ่งทำให้ผลของการวัดมีลักษณะเป็นนามธรรมค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้สอนและนักการศึกษาจึงควรเข้าใจธรรมชาติของการวัดทางการศึกษาเพื่อวางแผน ดำเนินการ และสรุปผลการวัดได้อย่างถูกต้อง
1.การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดทางอ้อม ( indirect )  เนื่องจากเป็นการวัดคุณลักษณะนามธรรมที่อยู่ภายในตัวบุคคล ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง เช่น การวัดระดับสติปัญญา การวัดความคิดเห็น การวัดเจตคติ การวัดจริยธรรม ดังนั้น เพื่อจะวัดคุณลักษณะเหล่านี้ผู้สอนจะต้องหาสิ่งเร้ามากระตุ้นให้บุคคลแสดงคุณลักษณะที่ต้องการวัดออกมาในรูปพฤติกรรมที่สังเกตได้ก่อน แล้วจึงวัดพฤติกรรมที่แสดงออกมาว่ามีปริมาณเท่าใด หรือมีคุณภาพเป็นอย่างไร เช่น ถ้าต้องการรู้ว่าผู้เรียนมีความรู้ทางคณิตศาสตร์หรือไม่ ผู้สอนต้องแปลง ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ออกมาเป็นพฤติกรรมที่วัดได้ เช่น ผู้เรียนสามารถบวกเลขสองหลักได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากผู้เรียนทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดก็สรุปย้อนกลับไปว่าผู้เรียนมี ความรู้ทางคณิตศาสตร์หรือถ้าต้องการทราบว่าผู้เรียนมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด ผู้สอนอาจมอบหมายงานให้ผู้เรียนไปทำงาน แล้วสังเกตว่าผู้เรียนมีความใส่ใจในการทำงานมากน้อยเพียงใด ส่งตรงเวลาหรือไม่ ทำงานครบถ้วนหรือไม่ แล้วจึงย้อนสรุปว่าผู้เรียนมีหรือไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งแตกต่างจากการวัดทางวิทยาศาสตร์ซึ่งวัดสิ่งที่มีตัวตน จับต้องได้ จึงสามารถนำเครื่องมือไปวัดได้โดยตรง เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ปริมาณ อุณหภูมิ ความดัน แรงกด
2.การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์ ( incomplete )  คือ ไม่สามารถวัดคุณลักษณะหรือพฤติกรรมต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากพฤติกรรมที่เป็นผลของการเรียนการสอนเป็นพฤติกรรมที่แฝงอยู่ภายในตัวบุคคล ไม่สามารถกำหนดรายละเอียดของพฤติกรรมได้ครบถ้วน รวมทั้งไม่สามารถกำหนดขอบเขตของพฤติกรรมได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ในการวัดผลทางการศึกษาจะต้องเลือกวัดพฤติกรรมที่สำคัญจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของพฤติกรรมทั้งหมด ดังนั้น แบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ความสามารถของผู้เรียนแต่ละฉบับ ไม่สามารถถามเนื้อหาความรู้ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ความรู้ที่ถามในแบบทดสอบนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมวลความรู้ที่ถูกสุ่มหรือเลือกมาเป็นข้อคำถามเพื่อวัดระดับความรู้หรือระดับความสามารถของผู้เรียน ตัวอย่างเช่น ผู้เรียนได้เรียนรู้คำสุภาษิตหรือคำพังเพยมาแล้ว 50 คำ แต่ในการสอบวัดความรู้อาจสร้างข้อคำถามเพื่อถามเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในคำสุภาษิตและคำพังเพยเพียง 10 หรือ 20 ข้อเท่านั้น ดังนั้นในการวัดผลการศึกษาผู้สอนต้องสร้างเครื่องมือวัดที่สามารถวัดให้ครอบคลุมเนื้อหาได้มากที่สุด โดยการสร้างตารางวิเคราะห์หลักสูตร เพื่อคัดเลือกเนื้อหาและพฤติกรรมที่ตรงกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ตามหลักสูตร คัดเลือกวิธีการวัดผลและเครื่องมือวัดที่สอดคล้องกับคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้ได้มากที่สุด
3.การวัดผลการศึกษามีความคลาดเคลื่อน ( error )  ความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทั้งในการวัดทางวิทยาศาสตร์และวัดทางจิตวิทยา เช่น การชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งอาจจะคลาดเคลื่อนเนื่องจากเครื่องชั่งหย่อนประสิทธิภาพหรืออ่านค่าน้ำหนักผิด การวัดผลทางการศึกษาก็มีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากเป็นการวัดพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงออกมาเมื่อมีสิ่งเร้าไปกระตุ้น พฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นอาจไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะสังเกตได้ หรืออาจแกล้งทำ หรืออาจไม่ใช่เป็นผลจากการกระตุ้นของสิ่งที่นำไปเร้า การวัดผลทางการศึกษาจึงมีความคลาดเคลื่อนมาก เพราะพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่ต้องการวัดมีลักษณะซับซ้อน สังเกตหรือจับต้องไม่ได้ เช่น ความรู้ ความเชื่อ ความคิดเห็น
ผลที่ได้จากการวัดทางการศึกษาประกอบด้วย 2 ส่วน คือผลการวัดที่แท้จริงซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่ต้องการวัด กับความคลาดเคลื่อนที่ได้จากการวัด ดังนั้นคะแนนที่ได้จากการวัดจึงเท่ากับความสามารถที่แท้จริงกับความคลาดเคลื่อน เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
คะแนนที่สอบได้ (X)     =      คะแนนจริง (T)      +       คะแนนความคาดเคลื่อน (E)
สาเหตุของความคลาดเคลื่อนในการวัดผลทางการศึกษามีหลายประการ ได้แก่
3.1ความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือวัด (เครื่องมือที่ใช้วัดไม่มีคุณภาพ) เช่น ข้อสอบยากหรือง่ายเกินไป ข้อสอบไม่มีความเที่ยงตรง แบบทดสอบมีข้อบกพร่อง คือ คำถามไม่ชัดเจน คำสั่งไม่ชัดเจน พิมพ์ผิด ตัวอักษรไม่ชัดเจน ฯลฯ
3.2ความคลาดเคลื่อนที่มาจากผู้สอบ เช่น มีความเครียด วิตกกังวล ไม่สบาย ทุจริตในการสอบ การรู้ข้อสอบล่วงหน้า
3.3ความคลาดเคลื่อนจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อากาศร้อน เสียงรบกวน
3.4ความคลาดเคลื่อนจากผู้ดำเนินการวัดผลขาดความชำนาญ เช่น ใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด การคุมสอบไม่รัดกุมทำให้เกิดการทุจริต
3.5ความคลาดเคลื่อนในการคำนวณ เช่น บวกคะแนนผิด การตรวจคะแนนไม่มีความชัดเจน การกรอกคะแนนผิด
ดังนั้น ในการวัดผลผู้สอนจะต้องพยายามควบคุมความคลาดเคลื่อนต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ผลของการวัดที่ได้ใกล้เคียงกับความสามารถของผู้ถูกวัดได้มากที่สุด
4.การวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดเชิงสัมพันธ์ ( relation ) ในการวัดทางวิทยาศาสตร์นั้น ข้อมูลที่ได้จากการวัดจะมีความหมาย คือ ให้ความรู้ความเข้าใจในทันที เช่น วิชัยสูง 150 เซนติเมตร แสดงว่าเป็นคนเตี้ย หรือฝรั่งผลนี้หนัก 1 กิโลกรัม แสดงว่าผลโตมาก ในขณะที่ข้อมูลที่เป็นผลจากการวัดทางการศึกษาไม่มีความหมายในตัวเอง อธิบายไม่ได้ จะต้องนำไปเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อนจึงบอกได้ว่าคะแนนของผู้สอบนั้นมีความหมายอย่างไร (มาก-น้อย/เก่ง-อ่อน) ตัวอย่างเช่น ในการสอบวิชาภาษาไทยของนักเรียน 40 คน ซึ่งมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ผู้ที่จะสอบผ่านจะต้องสอบได้คะแนนตั้งแต่ 50 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนสอบพบว่า ปัญญาสอบได้ 45 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 65 คะแนน ซึ่งคะแนนของปัญญาจะมีความหมายต่อเมื่อนำคะแนนไปเปรียบเทียบกับสิ่งต่อไปนี้
4.1เปรียบเทียบกับคะแนนเต็ม แสดงว่า ปัญญาสอบได้ต่ำกว่าครึ่งของคะแนนเต็ม
4.2เปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม (อิงกลุ่ม) แสดงว่า ปัญญาสอบได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย
4.3เปรียบเทียบกับเกณฑ์ (อิงเกณฑ์) แสดงว่า ปัญญาสอบไม่ผ่านเกณฑ์
5.การวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดที่ไม่มีศูนย์แท้  เนื่องจากเป็นการวัดที่ไม่ทราบจุดเริ่มต้นที่แสดงถึงพฤติกรรมที่ว่างเปล่า ข้อมูลที่ได้จากการวัดผลทางการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่คือจำนวนหรือตัวเลขซึ่งเรียกว่า คะแนน ( score ) เป็นข้อมูลระดับอันตรภาค ( interval scale )  ซึ่งข้อมูลในระดับนี้ไม่มีศูนย์แท้ คะแนน 0 คะแนน ในทางการศึกษาไม่ได้หมายความว่า ไม่มีหรือ ว่างเปล่าแต่มีความหมายว่า ผู้ที่ได้คะแนน 0  คะแนนจากการทำแบบทดสอบทำข้อสอบไม่ถูกเลยแม้แต่ข้อเดียว ดังนั้นจะแปลความว่าผู้เรียนคนนั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในวิชานั้นๆ เลยไม่ได้ ดังนั้นคำว่า 0  คะแนน ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความรู้ที่ว่างเปล่า จึงไม่ได้แปลว่าผู้สอบไม่มีความรู้ และผู้เรียนคนหนึ่งสอบได้ 40 คะแนน อีกคนหนึ่งสอบได้ 20 คะแนน ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนคนแรกมีความรู้เป็น 2 เท่าของอีกคนหนึ่ง

อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่4-7

ประเภทของการวัด



                 การวัดผลสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการวัด คือ การวัดด้านวิทยาศาสตร์หรือด้านกายภาพ และการวัดด้านสังคมศาสตร์หรือด้านจิตวิทยา
1.การวัดด้านวิทยาศาสตร์หรือด้านกายภาพ ( physical measurement ) หมายถึง การวัดคุณลักษณะที่เป็นที่เป็นรูปธรรมด้านน้ำหนัก ระยะทาง ส่วนสูง เวลา ปริมาตร มวล ความเร็ว ฯลฯ สามารถสัมผัสได้หรือสังเกตได้อย่างชัดเจน เช่น ระยะทาง ความสูง น้ำหนัก พื้นที่ การวัดในลักษณะนี้เป็นการวัดผลทางตรง หมายความว่า เป็นความสามารถในการวัดสิ่งนั้นๆ ได้โดยตรง สิ่งที่ต้องการวัดมีลักษณะเป็นรูปธรรม เช่น เมื่อต้องการวัดความยาวของโต๊ะก็สามารถนำไม้เมตรไปทาบวัดความยาวของโต๊ะออกมาเป็นหน่วยวัดของเมตรได้ทันที การวัดน้ำหนักของหมูก็สามารถใช้ตาชั่งวัดออกมาเป็นกิโลกรัม เครื่องมือในลักษณะนี้เป็นเครื่องมือที่มีมาตรฐานสากล มีความแม่นยำเที่ยงตรง
2.การวัดด้านจิตวิทยา ( psychological measurement ) หรือการวัดทางสังคมศาสตร์ ( social science ) หมายถึง การวัดคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นคุณลักษณะของมนุษย์ เช่น ความรู้ ปัญญา เจตคติ ความสามารถ บุคลิกภาพ ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถสังเกตหรือสัมผัสได้โดยตรง การวัดด้านจิตวิทยานี้เป็นการวัดทางอ้อม หมายถึง วัดคุณลักษณะหนึ่งโดยอาศัยการวัดจากอีกสิ่งหนึ่ง เช่น การวัดผลการเรียน การวัดเจตคติ การวัดความกังวลใจ ฯลฯ คุณลักษณะเหล่านี้เอาเครื่องมือไปทางวัดโดยตรงไม่ได้ ต้องวัดผ่านกระบวนการทางสมองหรือพฤติกรรม เราไม่มีโอกาสวัดคุณลักษณะนั้นๆ ตรงไปตรงมาผลจากการวัดจึงมีความคลาดเคลื่อน

อ้างอิงข้อมูล
          ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ทรงเกียรติ อิงคามระธร.

          การวัดและการประเมินผลการศึกษา.ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,2555.หน้าที่4